“Oppenheimer” เข้าฉายแล้วที่ญี่ปุ่น; พร้อมกระแสตอบรับทั้งแง่ลบและชื่นชม วิพากษ์ตัวหนังไม่ได้ถ่ายทอดผลกระทบฝั่งเหยื่อระเบิดปรมาณูมากพอ

หลังจุดเริ่มต้นในการเข้าฉายช่วงเดือนกรกฎาคม “Oppenheimer” ซึ่งได้กลายเป็นผลงานภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บนเวทีออสก้าร์ครั้งที่ 96 ไปแบบไม่เหนือความคาดหมายนัก แต่ตัวหนังก็ยังไม่สิ้นสุดการเดินทางครับ เพราะ 8 เดือนให้หลังจากการฉายปฐมทัศน์ในสหรัฐฯ ตัวหนังก็ได้เข้าฉายบนดินแดนประเทศญี่ปุ่นแล้วในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาครับ

โดยล่าสุดทาง Associated Press หรือสำนักข่าว AP ได้รายงานถึง กระแสตอบรับของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อ “Oppenheimer” ซึ่งส่วนมากออกมาผสมกัน ระหว่างชื่นชมและถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ส่วนใหญ่ก็มีอารมณ์ร่วมไปกับประเด็นหลักของหนัง ที่ว่าด้วยการรังสรรค์ระเบิดปรมาณู ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นเครื่องแสดงแสนยานุภาพของสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ซึ่ง โทชิยูกิ มิมากิ ประธานขององค์กรและสมาพันธ์เพื่อผู้ประสบภัยระเบิด เอ-บอมบ์ และ เอช-บอมบ์ แห่งญี่ปุ่น และเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดฮิโรชิม่าโดยตรง ตั้งแต่อายุ 3 ขวบนั้น ก็ได้รับชม “Oppenheimer” และรู้สึกหลงใหลในชีวประวัติของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ก่อนกลายเป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณูเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน แม้เขาจะไม่ได้เห็นด้วยกับญี่ปุ่นในห้วงเวลานั้น แต่เขาก็รู้สึกผิดหวัง ที่ตัวหนังไม่ได้ถ่ายทอดห้วงความทนทุกข์ทรมาน ของผลกระทบจากระเบิดปรมาณู

“ไม่อาจทราบได้ด้วยซ้ำ ว่าชาวญี่ปุ่นตอนนั้นคิดอะไรอยู่ ถึงได้ตัดสินใจถล่มอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ และปะทุเป็นสงครามที่พวกเขาไม่เคยหวังที่จะชนะ ตลอดทั้งเรื่อง ผมเฝ้ารอแล้วรอเล่า ให้ถึงฉากระเบิดเมืองฮิโรชิม่า แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น” โทชิยูกิ กล่าว

เช่นเดียวกันกับ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิม่า ทาคาชิ ฮิราโอกะ ซึ่งได้รับชมรอบปฐมทัศน์ของหนัง ก็ได้วิพากษ์ถึงสิ่งที่ตกหล่นไปจากในเนื้อหาของหนัง นั่นคือ ความน่าสะพรึงกลัวของอาวุธปรมาณู รวมถึงบทสรุปของหนังที่ดูจะให้น้ำหนักกับฝั่งตะวันตกมากกว่า

“จากมุมมองของเมืองฮิโรชิม่า ความน่าหวาดหวั่นของอาวุธปรมาณูนั้นถูกถ่ายทอดออกมาไม่เพียงพอ เพราะด้วยความที่ตัวภาพยนตร์นั้น ถูกสร้างออกมาเพื่อพิจารณาถึงบทสรุปที่ว่า ระเบิดปรมาณู ถูกสร้างมาเพื่อช่วยหลายล้านชีวิตของชาวอเมริกัน” ฮิราโอกะ กล่าว

ถึงอย่างไรก็ตาม ก็มีชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยชื่นชมต่อ “Oppenheimer” ผู้ชมรายนึงกล่าวว่า ตัวหนังนั้นเป็นหนังที่ดี และเน้นย้ำว่า ประเด็นในหนังนั้นเป็นที่สนใจในหมู่ผู้ชมชาวญี่ปุ่น แต่ก็ติถึงความผันผวนทางอารมณ์ร่วมที่มีต่อตัวหนังด้วย นอกจากนั้น ผู้ชมอีกรายนึงยังเผยด้วยว่า เขารู้สึกตื้นตัน ถึงฉากที่ตัวหนังถ่ายทอดความสับสนภายในจิตใจของออพเพนไฮเมอร์

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว Toho-Towa จะรับหน้าที่ดูแลสิทธิจำหน่ายภาพยนตร์ของ Universal Pictures ภายในประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับ “Oppenheimer” นั้นทาง Bitters End ได้รับสิทธินำเข้าและจัดจำหน่ายแทน อีกทั้งยังมีเครดิตในการนำเข้าและจำหน่าย ภาพยนตร์สงครามโลกที่เนื้อหาคล้าย ๆ กันอย่าง “Unbroken” ของแองเจลิน่า โจลี่ ในปี 2016 รวมถึงมีเครดิตในการจัดจำหน่ายหนังอย่าง “Parasite” และ “Drive My Car” มาแล้ว

นอกเหนือจากนี้ ด้าน ทาคาชิ ยามาซากิ ผู้กำกับฯ “Godzilla Minus One” ซึ่งได้รางวัลออสก้าร์สาขาเทคนิคพิเศษด้านภาพในงานออสก้าร์ครั้งที่ผ่านมา และเนื้อหาของหนังก็พูดถึงภาวะหลังความพินาศของห้วงสงคราม ก็ได้รับชมหนังและแสดงความรู้สึกต่อ “Oppenheimer” ด้วยว่า เขาอาจจะมอบคำตอบเพื่อตอบโต้ถึงสิ่งที่ “Oppenheimer” เปรยไว้ได้

ผมรู้สึกว่า มันมีความจำเป็นที่ญี่ปุ่นจะต้องตอบโต้ถึง “Oppenheimer” บ้าง และ สักวัน ผมอาจจะได้ทำหนังเรื่องนั้นก็เป็นได้” ยามาซากิ กล่าวทิ้งท้าย

สามารถติดตาม Movie Trivia เพิ่มเติมได้ที่
แฟนเพจ Facebook, Blockdit และ Threads

ใส่ความเห็น