Triangle of Sadness (2022) – สามเหลี่ยมโศกา

ไม่อาจปฏิเสธว่า ฐานะโดยกำเนิดของตนเองก็ไม่ได้เลิศหรูเสียเท่าไหร่ บางครั้งก็เฝ้าฝันถึงวันที่จะตะกายขึ้นไปหยิบช้อนเงินช้อนทองมาเป็นเจ้าของ แล้วยิ่งในสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง การจะลืมตาอ้าปาก ถีบตัวเองขึ้นสู่ความสบายในชนชั้นเบื้องบน ก็เป็นเป้าหมายของใครหลาย ๆ คนอย่างเลี่ยงไม่ได้ และในหลาย ๆ ครั้ง ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ก็มักจะถูกหยิบมาเป็นประเด็นสุดอมตะในสื่อหลายแขนง รวมถึงเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำปีล่าสุด นั่นคือผลงานเรื่องใหม่ของผู้กำกับ ฯ รูเบน ออสต์ลุนด์ อย่าง Triangle of Sadness

Triangle of Sadness เล่าเรื่องราวของคาร์ลและญาญ่า นายแบบและนางแบบวงการแฟชั่น ที่มีความสัมพันธ์กัน ก่อนจะถูกเชื้อเชิญขึ้นเรือยอร์ชลำหรูที่เต็มไปด้วยลูกค้าระดับชั้นสูง ทั้งมหาเศรษฐีจากเกษตรกรรม, สองสามีภรรยาที่ร่ำรวยจากการค้าอาวุธ หรือ เศรษฐีหนุ่มสุดเหงา กระทั่งเมื่อเหตุการณ์บนเรือโกลาหล ชนชั้นที่ต่างกัน ความเหลื่อมล้ำของอภิสิทธิ ต่างเผยออกมาในรูปแบบที่ชวนหัวและตลกร้าย

ตัวหนังถูกแบ่งแยกย่อยเป็นสามตอนตามองก์ โดยที่องก์แรก ปูพื้นด้วยสถานการณ์และเรื่องราวของตัวละครหลัก ผ่านบทสนทนาบนโต๊ะอาหารที่ชูประเด็นเรื่องคุณค่าของตัวเงินและการกำหนดบทบาททางเพศที่ค่อนข้างชัดเจน ก่อนที่เรื่องราวจะพาทั้งสองขึ้นเรือยอร์ชลำหรู ที่ประเด็นตัวเงินถูกยกระดับไปสู่ความอภิสิทธิ ผ่านพฤติกรรมชวนหัวชวนฮาที่ดูไร้สาระ และเรื่องราวก็สับสนอลหม่านมากขึ้น

เป็นการเปิดประสบการณ์หนังของรูเบน ออสต์ลุนด์ เลยก็ว่าได้ หลังเคยได้ยินกิตติศัพท์มานักต่อนัก ผลงานที่เคยผ่านตาแบบจริงจัง มีเพียงหนังสั้นแบบ Incident by a Bank (2009) ที่บอกผ่านการปล้นแบงก์ด้วยมุมภาพมุมเดียว แต่ตัดต่ออย่างชวนหัว

พอมาเรื่องนี้ เรายังคงเห็นฝีไม้ลายมือ ความตลกร้ายหน้าสั่นของออสต์ลุนด์ จากเรื่องราวสุดพิลึกพิลั่นและแสบสันต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเริ่มด้วยฉากการคัดตัวเดินแบบของคาร์ล ที่ในฉากนั้นก็มากหน้าหลายตาไปด้วยนายแบบหลากสีผิว ซึ่งล้วนมีรูปร่างและหน้าตาตามสมัยนิยม หรือฉากการโต้เถียงกันเรื่องจ่ายเงินค่าอาหารสุดหรูของคาร์ลและญาญ่า ที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่โตที่แสนจิ๊บจ้อย แต่มันก็ช่วยทำให้เราเห็นภูมิหลังของตัวละครทั้งคู่กลาย ๆ

ที่แม้จะมีหน้าตาอันงดงามเป็นทุน แต่พวกเขาก็ยังโหยหาการขยับเคลื่อนเลื่อนชั้นทางสังคมอยู่ไม่น้อย ซึ่งจากเรื่องราวในองก์แรก ก็เป็นการเสียดสีประเด็นอย่างคุณค่าของเงินตราในสังคมทุนนิยมได้อย่างดี และจากประเด็นนี้เอง มันก็พลอยมาเป็นสารตั้งต้น เป็นพื้นฐานเรื่องราว ที่หนังเรื่องนี้จะทำการขยับขยาย พลางจิกกัดไปตลอดเรื่อง

หนังจึงพาเราไหลไปกับสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านตัวละครหลัก อย่างคาร์ลและญาญ่า ที่เป็นเสมือนตัวแทนของคนดูที่ได้เหยียบขึ้นเรือยอร์ชหรูในช่วงองก์สอง ซึ่งก็มาพร้อมด้วยตัวละครใหม่ เช่น ลูกเรือ, คนทำความสะอาด, ลูกค้ามหาเศรษฐีที่ต่างชนชั้นกันไป

และหนังก็ยังไม่ยี่หระ ด้วยการใส่สถานการณ์สุดชวนหัว และชวนส่องผ่านประเด็นใหม่ อย่างความมีอภิสิทธิในชนชั้นที่สูงขึ้นไปอย่างแหลมคม อย่างเช่น ความไม่พอใจของคนชนชั้นที่สูงกว่า อาจส่งผลต่อชนชั้นล่างลงมาอย่างคาดไม่ถึง หรือการที่คนชนชั้นสูงกว่า ยังคงมีอำนาจเหนือกว่าชนชั้นล่างในรูปแบบที่พวกเขาหรือพวกเรา ก็ไม่ได้ตระหนักถึงเลยด้วยซ้ำ

หลายเหตุการณ์ในช่วงองก์สอง จึงเต็มไปด้วยความหฤหรรษ์ขำป่วน แถมยังเป็นการตีแสกหน้าความอีโก้ของเหล่าชนชั้นสูง อย่างการกุมชนชั้นล่างไว้ในกำมือ แม้จะพลางบอกผ่านถ้อยคำที่ตัวหนังย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า “เราทุกคนล้วนเท่ากัน” แต่พฤติกรรมสุดน่าขัน อย่างการเปรยบอกให้เหล่าลูกเรือทุกคนได้เสวยสุขตามใจ ด้วยการให้มาเล่นน้ำ ซึ่งมันก็เป็นการลักลั่นย้อนแย้งอยู่ไม่น้อย ที่ชนชั้นแรงงานทุกคนได้พัก ก็เพียงเพราะมัน “คำสั่ง” จากคนชั้นสูง ที่แรงงานทุกคนล้วนจำเป็นต้องทำตามเท่านั้น

สิ่งนี้ มันก็ยังช่วยตอกย้ำถึงอภิสิทธิที่เหล่าอีลิทมีเหนือกว่าได้อย่างเฉียบขาด ก่อนที่เหตุการณ์อันเล็กน้อยนี้ มันจะนำไปสู่ความวินาศสันตะโรในช่วงปลายองก์สอง และพาตัวละครไปสู่องก์สาม ที่พลิกพีระมิดของชนชั้นอย่างกลับตาลปัตร

แม้ตัวหนังจะบอกตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่า Triangle of Sadness มีที่มาจากศัพท์แสงในวงการแฟชั่น ที่บ่งบอกถึงรอยย่นบริเวณหน้าผากตรงหว่างคิ้ว และทำเหมือนมัน เป็นร่องรอยกาลกิณีที่ไม่ดีแก่ภาพลักษณ์ของแบรนด์แฟชั่นก็ตาม แต่จากเรื่องราวเนื้อหาที่ออสต์ลุนด์ขีดเขียน “สามเหลี่ยมโศกา” ที่เขาบัญญัติไว้ในหนังเรื่องนี้ คือภาพสะท้อนบริบททางสังคม ด้วยการจำลองสังคมที่เต็มไปด้วยอภิสิทธิชนบนเรือยอร์ชลำเล็กกลางทะเล เป็นดั่งพีระมิด ที่คนบนสุดมีอำนาจและสามารถกดคนชั้นล่าง ๆ ได้เสมอ ซึ่งอำนาจที่พวกเขามีไว้ในมือ ก็มีชื่อว่า “อภิสิทธิ” นั่นเอง

แต่น่าสนใจที่ว่า ในขณะที่หนังพาเหล่าอีลิทไปสู่ห้วงวิกฤตอาจม ที่เต็มไปด้วยคลื่นเหียนอาเจียนในช่วงปลายองก์สอง มันก็ทำให้เราเห็นซึ่งความเท่าเทียมกันใน ณ เวลานั้น เพราะทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจอยู่ยงคงกะพัน ฟันแทงไม่เข้า หรือกลิ่นของเน่าแล้วไม่สำรอกออก ถึงแม้จะเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้าน แต่ก็ไม่มีใครซื้อสุขภาพที่ดีได้

รวมถึงเมื่อเรื่องราวเกิดพลิกผันไปอีกในช่วงองก์สาม เสมือนพลิกด้านพีระมิดไปโดยปริยาย มันก็ยังทำให้เราเห็นด้วยซ้ำว่า ถึงแม้ในพื้นที่ ๆ ไร้ซึ่งบริบททางสังคมควบคุม แต่เมื่อคนเราเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจจากระบบแล้วก็ตาม มันก็ยากที่จะถอนตัวจากระบบนั้น ครั้นยังสร้างบริบทใหม่ แถมจนแล้วจนรอด ก็ไม่อาจจะอดใจ ใช้ซึ่งอภิสิทธิที่ตัวเองกำลังถือไว้อยู่ในมือเสียด้วยซ้ำไป

สรุปแล้ว Triangle of Sadness คือหนังที่ฉาบหน้าด้วยความตลกร้ายจิกกัด แซะขอดเกล็ดชนชั้นแบบแสบสันต์ ผ่านเนื้อหาการจำลองชนชั้นทางสังคมบนเรือยอร์ชลำเล็ก ส่องผ่านพฤติกรรมสุดไร้สาระน่าขันของเหล่าอีลิท แต่ก็วิพากษ์ซึ่งอำนาจจากการใช้อภิสิทธิได้อย่างเฉียบแหลมคมคาย เพราะเราล้วนแต่อยากจะถีบตัวเองขึ้นไปสู่ชนชั้นเบื้องบน แต่ก็ไม่อาจหนีซึ่งกองอาจมซึ่งเราไม่มีวันควบคุมได้ และถึงแม้สังคมจะต่างเรียกร้องถึงความเท่าเทียม แต่ก็เป็นการยาก ที่เราจะถอนตัวจากระบบที่สังคมเป็นผู้สร้างขึ้นได้พ้น

Rating: 4 out of 5.

สามารถติดตาม Movie Trivia เพิ่มเติมได้ที่
แฟนเพจ Facebook, Blockdit และ Threads

ใส่ความเห็น