สรุปรายชื่อผู้ชนะรางวัลเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 77 – “Anora” ของผู้กำกับฯ ฌอน เบเกอร์ คว้ารางวัลปาล์มทองคำ

อีกหนึ่งงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก อย่าง เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 77 ที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปในช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา ก็ได้ทำการประกาศผู้ชนะ จากภาพยนตร์ในสายประกวดหลักทั้ง 22 เรื่อง

โดยในปีนี้ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินภาพยนตร์สายประกวดหลัก ก็นำโดยประธานอย่าง เกรต้า เกอร์วิก ผู้กำกับฯและนักแสดงชาวอเมริกัน, เจ.เอ. บาโยน่า ผู้กำกับ ฯ สัญชาติสเปน, อีบรู เคย์ลัน นักแสดงสาวและมือเขียนบทชาวตุรกี, ปิแอร์ฟรานเซสโก้ ฟาวิโน่ นักแสดงและโปรดิวเซอร์หนุ่มชาวอิตาลี, ลิลี แกลดสโตน นักแสดงสาวชาวอเมริกัน, เอวา กรีน นักแสดงสาวชาวฝรั่งเศส, ฮิโระคาซุ โคเระเอดะ ผู้กำกับ ฯ และโปรดิวเซอร์ชายชาวญี่ปุ่น, เนดีน ลาบากี นักแสดงสาวและผู้กำกับ ฯ ชาวเลบานอน และ โอมาร์ ซีย์ นักแสดงหนุ่มชาวฝรั่งเศส

และก็เป็น “Anora” ภาพยนตร์คอเมดี้ดราม่าที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของนักเต้นเปลื้องผ้ากับลูกของผู้มีอิทธิพล จากผู้กำกับ ฯ ฌอน เบเกอร์ ที่สามารถคว้ารางวัลเกียรติยศสูงสุดของเทศกาลอย่าง รางวัลปาล์มทองคำ หรือ Palme d’Or ไปได้ หลังเจ้าตัวเคยส่ง “Red Rocket” มาร่วมในสายประกวดหลักของเวทีคานส์เมื่อปี 2021 และ “The Florida Project” ในโปรแกรม Directors’ Fortnight มาแล้ว แต่นี่ถือเป็นรางวัลใหญ่แรกที่เจ้าตัวได้รับจากเวทีนี้

ที่น่าสนใจคือ “Anora” ถือเป็นหนังรางวัลปาล์มทองคำเรื่องที่ 5 ของผู้จัดจำหน่ายอย่าง Neon ที่รับสิทธิจัดจำหน่ายของหนังเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกา และถือเป็นชัยชนะ 5 ปีติด หลังได้สิทธิจัดจำหน่ายอย่าง “Parasite”, “Titane”, “Triangle of Sadness” และ “Anatomy of a Fall” ซึ่งสามในสี่เรื่องนี้ ล้วนมีบทบาทสำคัญบนเวทีออสก้าร์ทั้งสิ้น

และ “Anora” ยังถือเป็นภาพยนตร์สัญชาติสหรัฐอเมริกันเรื่องแรกในรอบ 13 ปี ที่ชนะรางวัลปาล์มทองคำ หลังชัยชนะของ “The Tree of Life” ของผู้กำกับ ฯ เทอร์เรนซ์ มาลิค ในปี 2011

โดย เบเกอร์ ได้กล่าวในการอุทิศรางวัลปาล์มทองคำ แด่เหล่าผู้ให้บริการทางเพศ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต รวมถึงเชิดชูการสร้างภาพยนตร์เพื่อประสงค์ในการนำไปฉายในโรงภาพยนตร์อีกด้วย “เราแบ่งปันเสียงหัวเราะ ความโศกเศร้า ความขุ่นเคือง ความสะพรึงกลัว และความหวังที่จะปลดเปลื้องห้วงอารมณ์ไปกับมิตรสหายและคนแปลกหน้า ดังนั้น ผมจะบอกว่า อนาคตของภาพยนตร์จะยังคงอยู่ ณ ที่ ๆ มันเริ่มต้น นั่นคือ ในโรงภาพยนตร์”

ถัดมาเป็นรางวัลกรังด์ปรีซ์ หรือรองชนะเลิศภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็เป็นภาพยนตร์ดราม่า “All We Imagine as Light” ของผู้กำกับฯ พายาล คาพาเดีย ว่าด้วยเรื่องราวของสองสาวพยาบาลที่ออกเดินทางไปค้นพบสถานที่พิเศษ พร้อมสำรวจซึ่งมิติของผู้หญิงในกรุงมุมไบในช่วงอายุและวรรณะที่ต่างกัน ชัยชนะของ “All We Imagine as Light” ก็สร้างประวัติศาสตร์ ณ ฐานะเป็นหนังสัญชาติอินเดียเรื่องแรกในรอบ 30 ปี ที่ได้เข้าชิงในสายประกวดหลัก

รองลงมา รางวัลชมเชย Jury Prize เป็นภาพยนตร์มิวสิคัลอาชญากรรมดราม่าอย่าง “Emilia Pérez” ของผู้กำกับฯ ฌาคส์ อูเดียด์ ที่ทนายสาวรายหนึ่งต้องให้ความช่วยเหลือหัวหน้าแก๊งมาเฟีย ที่หวังจะวางมือด้วยการผ่าตัดแปลงเพศ และถือเป็นหนังที่ได้รับกระแสยอดนิยมเกินคาด

อีกทั้งตัวหนังยังคว้ารางวัล นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม โดยมอบให้กับ 4 นักแสดงหลักอย่าง อาเดรียน่า พาซ, คาร์ลา โซเฟีย กาซคอน, เซเลน่า โกเมซ และ โซอี้ ซัลดาน่า อีกด้วย และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ที่รางวัลนี้ถูกมอบให้กับคณะนักแสดงที่มากกว่าสองคน หลัง “Volver” ในปี 2006

ส่วนด้านนักแสดงชายยอดเยี่ยม ตกเป็นของ เจสซี พลีมอนส์ จาก “Kinds of Kindness” หนังรวมเรื่องสั้นเรื่องใหม่ของ ยอร์กอส แลนธิมอส ที่ พลีมอนส์ แสดงถึงสามบทบาทในเรื่องเดียว และเป็นรางวัลแรกที่เขาได้รับจากเวทีคานส์

นอกเหนือจากนี้ ก็มี มิเกล โกเมส จาก “Grand Tour” ที่ได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผลงานดราม่าพีเรียดที่ โกเมส ได้กำกับจากระยะไกล เนื่องด้วยภาวะโรคระบาดโควิด-19 ด้าน “The Substance” ของคอราลี ฟาร์กาต์ หนังสยองขวัญแนว body horror เฮี้ยนแรงประจำเทศกาล ก็ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง

และอีกหนึ่งความโดดเด่นของเทศกาล คือผู้กำกับฯ ชาวอิหร่าน โมฮัมหมัด ราซูลอฟ ได้เดินทางมายังเทศกาล หลังเจ้าตัวตัดสินใจอพยพหนีจากประเทศอิหร่าน เพราะเจ้าตัวมีปัญหากับทางการอิหร่านมาโดยตลอด เนื่องด้วยผลงานที่พลางตั้งคำถามกับขนบธรรมเนียมของสังคม

โดย ราซูลอฟ เพิ่งถูกศาลทางการปฏิวัติตัดสินให้ต้องโทษจำคุก 8 ปี และลงโทษด้วยการจ่ายค่าปรับ อายัดทรัพย์ และเฆี่ยนตี หลังผลงานล่าสุดของเขา “The Seed of the Sacred Fig” ถูกรับเลือกให้เข้าฉายในสายประกวด และทางการพยายามขัดขวางไม่ให้ ราซูลอฟ เดินทางออกนอกประเทศ

ซึ่งหลังจากภาพยนตร์ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ และได้รับการปรบมือกึกก้องยาวนานหลังหนังฉายจบเป็นเวลาราว ๆ 12 – 15 นาที “The Seed of the Sacred Fig” ก็ได้รับรางวัลชื่นชมพิเศษจากคณะกรรมการสายประกวดอย่าง Special Prize นอกเหนือจากนี้ ตัวหนังก็ยังได้รับรางวัลอื่น ๆ ในเทศกาลอย่าง FIPRESCI Prize, Prize of the Ecumenical Jury, François Chalais Prize และ Prix des Cinémas Art et Essai อีกด้วย

ภาพยนตร์ที่มีสิทธิในสายประกวดหลัก
“In Competition”

  • “All We Imagine as Light” โดย พายาล คาพาเดีย
  • “Anora” โดย ณอน เบเกอร์ **
  • “The Apprentice” โดย อาลี อับบาซี
  • “Beating Hearts” โดย จิลส์ เลอลูช
  • “Bird” โดย อังเดรีย อาร์โนลด์
  • “Caught by the Tides” โดย เจี่ยจางเคอ
  • “Emilia Pérez” โดย ฌาคส์ อูเดียด์
  • “The Girl with the Needle” โดย แม็กนัส ฟอน ฮอร์น
  • “Grand Tour” โดย มิเกล โกเมส
  • “Kinds of Kindness” โดย ยอร์กอส ลานธิมอส
  • “Limonov: The Ballad” โดย คิริลล์ เซเรเบรนนิคอฟ
  • “Marcello Mio” โดย คริสตอฟ โอโนเร่
  • “Megalopolis” โดย ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า
  • “The Most Precious of Cargoes” โดย มิเชล ฮาซานาวิเซียส
  • “Motel Destino” โดย คาริม อายนูซ
  • “Oh, Canada” โดย พอล ชเรเดอร์
  • “Parthenope” โดย เปาโล ซอร์เรนติโน่
  • “The Seed of the Sacred Fig” โดย โมฮัมหมัด ราซูลอฟ
  • “The Shrouds” โดย เดวิด โครเนนเบิร์ก
  • “The Substance” โดย คอราลี ฟาร์กาต์
  • “Three Kilometres to the End of the World” โดย เอมานูเอล พาร์วู
  • “Wild Diamond” โดย อกาธ ไรดิงเกอร์

รายชื่อรางวัลในสายประกวดหลัก
“In Competition”

Palme d’Or – รางวัลปาล์มทองคำ

Anora” โดย ณอน เบเกอร์

อานี คือหญิงสาวนักเต้นเปลื้องผ้าจากหาดไบร์ทตัน เป็นผู้อพยพจากรัสเซียที่มาพำนักในเมืองนิวยอร์ก หลังจากที่เจ้านายของเธอจัดแจงให้พบลูกค้าชาวรัสเซีย เธอพานพบกับ วานยา ลูกชายของผู้มีอำนาจชาวรัสเซีย ก่อกำเนิดเป็นความสัมพันธ์โรแมนติกที่ทั้งสองตัดสินใจจะแต่งงานหนีตามกัน เรื่องราวความรักชวนฝันกลับสั่นสะท้าน เมื่อการมาของพ่อแม่ของวานยาอาจทำให้งานแต่งงานของพวกเขาถูกยกเลิก

Anora” ได้ผู้จัดจำหน่ายอย่าง Neon มารับหน้าที่จัดจำหน่ายภายในสหรัฐอเมริกา


Grand Prix – รางวัลกรังด์ปรีซ์

All We Imagine as Light” โดย พายาล คาพาเดีย

ประภา และ อานู เป็นพยาบาลชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ในมุมไบ ประเทศอินเดีย ทั้งสองอยู่ในความสัมพันธ์ที่กระท่อนกระแท่น หลังประภาได้รับของขวัญจากแฟนเก่าที่เธอจากมา ทั้งคู่จึงตัดสินใจออกเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองริมหาด สถานที่ ๆ ซึ่ง “ป่าลึกลับกลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความฝันของพวกเขา”


Jury Prize – รางวัลชมเชย

Emilia Pérez” โดย ฌาคส์ อูเดียด์

ว่าด้วยเรื่องราวปัจจุบันของประเทศเม็กซิโก เมื่อ ริต้า มอโร คาสโตร ทนายสาวตัดสินใจทำงานให้กับสำนักงานกฎหมายที่ช่วยฟอกขาวพวกสวะอาชญากร แทนที่จะรับใช้ความยุติธรรม จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอเห็นซึ่งทางหนีที่ไล่ ที่อาจทำให้เธอวางมือจากความสกปรก ด้วยการให้ความช่วยเหลือจากหัวหน้าอาชญากรมาเฟีย ฮวน “ลิตเติ้ล แฮนด์ส” เดล มอนตี้ หรือในสมญา “มานิทาส” ให้หาทางเกษียณตัวเองและหายตัวไปจากวงการตลอดกาล ด้วยการเข้าผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อหลบเร้นจากอาชญากรรม และทำตามฝันที่เขาอยากเป็นมาตลอด


Best Director – ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

มิเกล โกเมส จาก “Grand Tour

ในปี 1918 เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ที่ซึ่งทั้งประเทศถูกปกครองโดยจักรพรรดิอังกฤษ เอ็ดเวิร์ด ข้าราชการอังกฤษตัดสินใจหนีจากการแต่งงานกับคู่หมั้นอย่าง มอลลี เอ็ดเวิร์ด ที่เดินทางภายใต้ห้วงอารมณ์อันเศร้าโศกและคำนึงถึงมอลลีตลอดเวลา ด้าน มอลลี จึงออกเดินทางเพื่อตามหาคู่หมั้นทั่วทวีปเอเชีย


Best Actress – นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

อาเดรียน่า พาซ, คาร์ลา โซเฟีย กาซคอน, เซเลน่า โกเมซ และ โซอี้ ซัลดาน่า จาก “Emilia Pérez

เกร็ดความรู้ ; คณะนักแสดงหลักจาก “Emilia Pérez” ทั้งสี่ ถือเป็นคณะนักแสดงชุดที่ 5 ที่ได้รับรางวัลนี้ แบบเป็นกลุ่มนักแสดงที่มีมากกว่า 2 คนขึ้นไป รวมถึง คาร์ลา โซเฟีย กาซคอน ที่รับบทนำเป็น เอมิเลีย เปเรซ ก็สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแสดงทรานส์รายแรกที่ชนะรางวัลนี้

โดยประธานคณะกรรมการตัดสินประจำปีนี้อย่าง เกรต้า เกอร์วิก ให้เหตุผลเสริม ที่ตัดสินใจมอบรางวัลนี้ ให้กับ 4 นักแสดงว่า “หากต้องแยกพวกเขาออกมา มันเหมือนกับไปด้อยค่ามนตร์ขลังที่พวกเราร่วมสร้างด้วยกัน พวกเขาแต่ละคนช่างโดดเด่น แต่เมื่อแสดงร่วมกัน พวกเขามหัศจรรย์มาก”


Best Actor – นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

เจสซี พลีมอนส์ จาก “Kinds of Kindness

“Kinds of Kindness” ว่าด้วยเรื่องราวเรื่องสั้นสามเรื่องที่แปลกแยกแต่เชื่อมโยงเข้าถึงกัน ว่าด้วยเรื่องราวของบุรุษที่หวังจะกำหนดชะตากรรม ด้วยการหนีจากเจ้านายที่เรืองอำนาจ, สามีที่ต้องสงสัยว่า อดีตคู่หมั้นที่เพิ่งกลับมาหลังหายสาบสูญ อาจไม่ใช่ตัวจริง และ เจ้าลัทธิที่ออกตามหาบุคคลเฉพาะที่มีความสามารถในการปลุกคนตาย


Best Screenplay – บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

The Substance” โดย คอราลี ฟาร์กาต์

อดีตนักแสดงชื่อดัง ตัดสินใจใช้สารเสพติดจากตลาดมืด ที่มีความสามารถในการคัดลอกได้ถึงระดับเซลล์ ด้วยการสร้างตัวตนชั่วคราวที่เด็กกว่าและดีกว่าตัวของเธอเอง

The Substance” ได้ผู้จัดจำหน่ายอย่าง Mubi มารับหน้าที่ดูแลสิทธิจัดจำหน่ายทั่วโลก


Special Prize – รางวัลชื่นชมพิเศษ

The Seed of the Sacred Fig” โดย โมฮัมหมัด ราซูลอฟ

อิมาน ผู้พิพากษาสอบสวนของศาลปฏิวัติในกรุงเตหะราน ต้องเผชิญกับความไม่ไว้วางใจและความหวาดระแวง ขณะที่การประท้วงทางการเมืองในประเทศปะทุรุนแรงขึ้น ก่อนจะค้นพบว่า เขากำลังจะต้องอนุมัติโทษประหารชีวิต โดยไม่มีสิทธิได้ตรวจสอบซึ่งหลักฐาน โดยไม่มีทางได้ปรึกษากับคนในครอบครัว เพื่อป้องกันเรื่องการรั่วไหลของข้อมูล

อิมาน ซึ่งได้รับการถือครองอาวุธปืนเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยภายในครอบครัว กลับค้นพบว่า ปืนของเขาได้หายไป เขาจึงเริ่มไม่ไว้วางใจภรรยากับลูกสาวทั้งสองของเธอ ที่มีแนวคิดสตรีนิยมที่อ่อนไหว และถือปฏิปักษ์กับความมั่นคงของสังคม อีกทั้งยังเชื่อด้วยว่า หนึ่งในสามคนนี้อาจขโมยปืนของเขาไป

รายชื่อรางวัลนอกสายประกวดหลัก “Un Certain Regard”

Un Certain Regard Prize – ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ; “Black Dog” โดย กวน หู่

Jury Prize – รางวัลชมเชย ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ; “The Story of the Souleymane” โดย บอริส โลจคีน

Best Director – ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ; โรเบอร์โต มิเนอร์วินี จาก “The Damned” และ รุนกาโน่ นีโอนี จาก “On Becoming a Guinea Fowl”

Performance Prize – การแสดงยอดเยี่ยม ; อานสุญา เซนกุปตา จาก “The Shameless” และ อาบอว์ ซังกาเร จาก “The Story of the Souleymane”

Youth Prize – ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นเยาว์ยอดเยี่ยม “Holy Cow” โดย หลุยส์ คัวร์วอซิเยร์

Special Mention – รางวัลชื่นชมพิเศษ ; “Norah” โดย ทอว์ฟีค อัลไซดี

รายชื่อรางวัลอื่น ๆ

Honorary Palme d’Or – รางวัลเชิดชูเกียรติปาล์มทองคำ

  • นักแสดง เมอรีล สตรีพ
  • สตูดิโอแอนิเมชัน จิบลิ
  • ผู้กำกับฯ และมือเขียนบท จอร์จ ลูคัส

Caméra d’Or – รางวัลกล้องทองคำ (ผลงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องยาว – สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ – ยอดเยี่ยม)

  • “Armand” โดย ฮาล์ฟดัน อูลมันน์ ทอนเดลล์
  • Special Mention – รางวัลชมเชยพิเศษ ; “Mongrel” โดย เจียง เหว่ย เลียง และ ยู เชา หยิน

Short Film Palme d’Or – รางวัลภาพยนตร์สั้นปาล์มทองคำ

  • “The Man Who Could Not Remain Silent” จาก โดย เนบอยซา สลิเย็ปเชวิช
  • Special Mention – รางวัลชมเชยพิเศษ ; “Bad for a Moment” โดย เดเนียล ซอเรส

Cinéfondation – รางวัลส่งเสริมผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่

  • ชนะเลิศ : “Sunflowers Were the First Ones to Know…” โดย ชิดานันทา เอส นาอิค
  • รองชนะเลิศ : “Out of the Window Through the Wall” โดย อาซญ่า เซกาโลวิช และ “The Chaos She Left Behind” โดย นิโคส์ โคลิโอคุส
  • รองชนะเลิศ อันดับสอง : “Bunnyhood” โดย มันซี มาเฮชวารี

Immersive Compeition – รางวัลแด่ผลงานที่มีเทคโนโลยีที่มอบความดึงดูดด้านประสบการณ์

  • “Colored” โดย ทาเนีย เดอ มองเทจน์, สเตฟานี ฟอเอคินอส และ ปิแอร์-อเลน จีรอด

รายชื่อรางวัลสายภาพยนตร์อิสระ

FIPRESCI Prizes – รางวัลที่มอบโดยกลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์และสื่อมวลชนนานาชาติ

  • สายประกวดหลัก (In Competition) : “The Seed of the Sacred Fig” โดย โมฮัมหมัด ราซูลอฟ
  • นอกสายประกวดหลัก (Un Certain Regard) : “The Story of Souleymane” โดย บอริส โลจคีน
  • สายคู่ขนาน – ภาพยนตร์เปิดตัวแรก (Parallel Section) : “Desert of Namibia” โดย โยโกะ ยามานากะ

Prize of the Ecumenical Jury – รางวัลที่ให้เกียรติภาพยนตร์ที่เผยซึ่งแง่มุมของมนุษย์

  • “The Seed of the Sacred Fig” โดย โมฮัมหมัด ราซูลอฟ

Critics’ Week – รางวัลที่จัดโดยองค์กรนักวิจารณ์ฝรั่งเศส

  • Grand Prize – ชนะเลิศ ; “Simon of the Mountain” โดย เฟเดอริโก้ ลูอิส
  • French Touch – รองชนะเลิศ ; “Blue Sun Palace” โดย คอนสแตนซ์ จาง
  • Leitz Cine Discovery Prize – ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ; “Montsouris Park” โดย กิล เซล่า
  • Louis Roederer Foundation – ผู้กำกับ ฯ ดาวรุ่งยอดเยี่ยม ; ริคาร์โด ธีโอโดโร จาก “Baby”
  • Gen Foundation – รางวัลสำหรับผู้จัดจำหน่าย ; “Julie Keeps Quiet” โดย ลีโอนาร์โด ฟาน ดีจล์
  • Canal+ Award – ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม ; “Absent” โดย เคม เดอมิเรอร์
  • SACD Awards ; “Julie Keeps Quiet” โดย ลีโอนาร์โด ฟาน ดีจล์

Directors’ Fortnight – งานจัดแสดงผลงานของผู้กำกับ ฯ หน้าใหม่

  • Audience Award – ขวัญใจผู้ชม ; “Universal Language” โดย แมทธิว รานคิน
  • สายภาพยนตร์อิสระ
    • Europa Cinema Label Award – ภาพยนตร์ยุโรปยอดเยี่ยม ; “The Other Way Around” โดย โยนาส ทรูบา
    • SACD Prize – ภาพยนตร์ฝรั่งเศสยอดเยี่ยม ; “This Life of Mine” โดย โซฟี ฟิลิแยร์
    • Golden Coach – อังเดรีย อาร์โนลด์

L’Œil d’or – สายตาทองคำ (ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม)

  • “Ernest Cole: Lost and Found” โดย ราอูล เพ็ค
  • “The Brink of Dreams” โดย นาดา ริยาดห์ และ เอย์มาน เอล อาเมียร์

Queer Palm – รางวัลที่มอบให้กับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหา LGBTQ+ ยอดเยี่ยม

  • “Three Kilometres to the End of the World” โดย เอมานูเอล พาร์วู
  • ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม : “Southern Brides” โดย เอเลน่า โลเปซ ริเอร่า

François Chalais Prize – รางวัลที่มอบให้ภาพยนตร์ที่เชิดชูคุณค่าของวารสารศาสตร์

  • “The Seed of the Sacred Fig” โดย โมฮัมหมัด ราซูลอฟ

Prix de la Citoyenneté – รางวัลที่มอบให้กับภาพยนตร์ที่มีคุณค่าในการเชิดชูซึ่งมนุษย์และความเป็นสากล

  • Citizenship Prize – “Bird” โดย อังเดรีย อาร์โนลด์

Prix des Cinémas Art et Essai

  • AFCAE Art House Cinema Award ; “The Seed of the Sacred Fig” โดย โมฮัมหมัด ราซูลอฟ
  • Special Mention – รางวัลชมเชยพิเศษ ; “All We Imagine as Light” โดย พายาล คาพาเดีย

Palm Dog – รางวัลที่มอบให้กับสุนัขนักแสดงยอดเยี่ยม

  • นักแสดงยอดเยี่ยม ; โคดี้ จาก “Dog on Trial”
  • รองชนะเลิศ ; ซิน จาก “Black Dog”
  • Mutt Moment – รางวัลชมเชยพิเศษ ; “Bird”, “Kinds of Kindness” และ “Megalopolis”

Trophée Chopard – รางวัลที่มอบให้กับนักแสดงหน้าใหม่น่าจับตา

  • ไมค์ ไฟสต์
  • โซฟี ไวลด์

สามารถติดตาม Movie Trivia เพิ่มเติมได้ที่
แฟนเพจ Facebook, Blockdit และ Threads

ใส่ความเห็น