โลกอันแสนคลั่งในวัย 79 ปี ; ความฝันอันไม่หยุดยั้งของ จอร์จ มิลเลอร์ อัจฉริยะผู้สร้างจักรวาล “Furiosa: A Mad Max Saga”


การจินตนาการถึงสิ่งใดได้นั้น มันมักจะมาพื้นฐานของชีวิตบุคคลนั้น ๆ เสมอ ทั้งภูมิหลังหรือชีวิตในวัยเด็ก หรือบางครั้ง การระบุบางอย่างเสริมเพิ่มเติม อาจช่วยให้เราจินตนาการได้ง่ายมากขึ้น และถ้าหากเราจะลองจินตนาการถึงชายวัย 79 ปี ที่ยังคงทำหนังอยู่จนถึงปัจจุบัน หนังของบุรุษผู้นั้น ควรว่าด้วยเรื่องราวไหน และคงน้อยมาก ที่เราจะลองนึกไปใกล้ ถึงโลกแดนร้างอันบ้าคลั่งอย่างมหากาพย์ “Mad Max

จอร์จ มิลเลอร์ ในวัย 79 ปี คือผู้กำกับภาพยนตร์ ที่เกิดและเติบโตในย่านควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย นับตั้งแต่ที่ “Mad Max” ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาเปิดในปี 1979 การเดินของแมกซ์ก็ยังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงภาคแยก “Furiosa: A Mad Max Saga” และเป็นเวลากว่า 45 ปีที่แฟรนไชส์ความคลั่งนี้ยังปะทุเดือดมาจนปัจจุบัน

มิลเลอร์ ที่โตมาย่านชนบท และไม่ได้สิ่งบันเทิงให้ดูมากนัก นอกเหนือจากการอ่านการ์ตูน, หนังสือเรียน, งานกีฬาประจำสัปดาห์ แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงเขา ก็คือการได้ไปยังโบสถ์ในละแวกบ้าน ที่ปรับแต่งให้เป็นโรงภาพยนตร์ และจัดการฉายการ์ตูน, ภาพข่าว, หนังเก่าสั้น ๆ และภาพยนตร์ประมาณ 2 เรื่อง และจากสิ่งที่เขาและน้องชายได้เห็นบนจอเงิน ก็สร้างแรงผลักดันให้ทั้งคู่ ลองทำละครสั้น ๆ เพื่อลอกเลียนจากฉากที่อยู่ในหนังกันเอง และมันก็เป็นรากฐานให้มิลเลอร์แบบไม่คาดคิด

ทั้งนี้ มิลเลอร์ เข้ารับการศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ที่ ๆ ทำให้เขาได้มีพื้นฐานในการประกอบอาชีพในฐานะแพทย์ผู้ช่วย ในแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ หลังเรียนจบ และต้องทำหน้าที่รับมือกับผู้ประสบอุบัติเหตุรถชนมากมาย ซึ่งเป็นผลจากกฎหมายที่หย่อนยาน ทำให้บาดแผลที่ตัวเขาเผชิญ ล้วนแต่น่าสะพรึงกลัวแทบทั้งสิ้น

หากแต่ก่อนช่วงที่จะเรียนจบ ปีสุดท้ายของการเรียนแพทย์ มิลเลอร์ กับน้องชาย คริส ได้ลองทำหนังสั้นความยาว 1 นาทีอย่าง “St. Vincent’s Revue Film” ส่งประกวดจนมันได้รางวัลชนะเลิศ ก่อนที่ช่วงปีเดียวกัน มิลเลอร์ ซึ่งสนใจภาพยนตร์ ก็ได้ไปเข้าร่วมเวิร์คชอปภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ที่ซึ่งเขาได้พบกับ ไบรอน เคนเนดี้ และได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนผลิตภาพยนตร์สารคดีกัน ก่อนที่ประสบการณ์จากห้องผ่าตัดจะควบรวมอย่างความทะเยอทะยาน และจุดระเบิดกลายต้นกำเนิดของ “Mad Max

Mad Max” ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวในอนาคตอันไกล ที่ผู้คนสูญสิ้นซึ่งสติ เจ้าหน้าที่หน่วยไล่ล่าพิเศษอย่าง แม็กซ์ ร็อคคาเทนสกี้ จึงต้องออกมาจัดการแก๊งมอเตอร์ไซค์แสนขบถ นำโดย โทคัตเตอร์ ซึ่งเหตุผลที่ตัวหนังภาคแรก มาพร้อมเซ็ตติ้งโลกอนาคตที่ดูไร้กฎหมาย ไม่ใช่เพราะมันเสริมเรื่องราวแต่อย่างใด หากแต่เป็นเหตุผลในการถ่ายทำแทบทั้งนั้น ที่ควบคุมอ้างอิงจากงบประมาณได้ง่ายกว่า

ซึ่ง งบประมาณของหนัง “Mad Max” ก็จำกัดจำเขี่ยมาก ราว ๆ 400,000 เหรียญออสเตรเลียเท่านั้น ถึงขั้นทีมงานถ่ายทำไม่มีงบประมาณมากพอจะไปซื้อหรือเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร เพื่อวาดสตอรี่บอร์ด วิธีแก้ไขคือ มิลเลอร์ ต้องเขียนอธิบายทุกอย่างลงไปในบทหนัง

“เพราะงบมันถูกกว่ามาก ถ้าถ่ายแบบนี้ เราออกกองไปถ่ายหนังที่เคลื่อนไหวมาก ๆ และคุณไม่มีงบมากพอจะไปปิดถนน หรือจ้างตัวประกอบ หรือกระทั่งซื้อรถเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าเนื้อหามันอยู่ในอนาคต เราสามารถใช้อาคารที่ทิ้งร้าง หรือรถที่ชำรุดได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องปิดถนน สิ่งที่เราทำได้คือการตระเวนไปทั่วเมลเบิร์น และหาสถานที่ ๆ รกร้างมากพอที่เราจะหาได้ การทำอะไรแบบนั้นเกิดขึ้นจากความบังเอิญที่จำเป็นล้วน ๆ”

ผมเขียนรายละเอียดระบุในทุก ๆ ฉาก ในทุกการเคลื่อนกล้อง สำหรับทุกคนที่ทำงานในหนังเรื่องนี้ บทมันยาวทั้งสิ้น 274 หน้า สำหรับหนังที่ยาวแค่ 90 นาที” มิลเลอร์ กล่าว

“การทำอะไรแบบนั้นเกิดจากความบังเอิญที่จำเป็นล้วน ๆ”


ซึ่ง “Mad Max” ถ่ายทำด้วยระบบกองโจร ที่ทีมงานปิดถนนโดยไม่ได้ขออนุญาตทางการ หรือกระทั่ง กองถ่ายที่ไร้ซึ่งวิทยุสื่อสาร เพราะมันอาจไปกวนกับสัญญาณวิทยุของตำรวจ หรือกระทั่งการที่ มิลเลอร์ และ เคนเนดี้ ต่างทำความสะอาดถนนทันทีที่ถ่ายทำเสร็จสิ้น จนตำรวจเมืองวิคตอเรียเริ่มสนใจ ก่อนให้ความช่วยเหลือในปัญหาด้านจราจรและการปิดถนน

กระนั้นเอง ระหว่างถ่ายทำ มิลเลอร์ ก็เผชิญปัญหานานานัปการ รวมถึงกำหนดการที่อาจจะถ่ายทำหนังไม่เสร็จตามกำหนด ถึงจุดหนึ่งที่เขาเกือบถอนตัวจากโครงการ แต่จนแล้วจนรอดก็กลับมาถ่ายทำจนจบ ซึ่ง มิลเลอร์ ก็เปรยเสมอว่า เขาได้รับประสบการณ์แสนท้าทายจากกอง “Mad Max” จนไม่อยากจะหวนกลับไปรื้อฟื้นมัน

เพียงแต่หลังตัวหนังได้ออกฉายทั่วโลก จนทำเงินถล่มทลาย (“Mad Max” ถูกจดขึ้นกินเนสบุ๊ค ในฐานะภาพยนตร์ที่ทำกำไรมากที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก) มิลเลอร์ ก็ได้รับกระแสตอบรับมากมายจนน่าประหลาดใจ ถึงแม้ว่าเขาจะกลับมาเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามเดิม แต่ความนิยมในตัวหนังก็มาก จนเขายากที่จะปฏิเสธ เขาจึงตัดสินใจสร้าง “Mad Max 2” ด้วยงบประมาณที่มากขึ้น และความตั้งใจที่จะทำให้ออกมาดีกว่าภาคแรก

“ผมค้นพบว่าการถ่ายหนังมันยากเกินไป จนมีคนมาพูดกับผมว่า “มันยากเสมอแหล่ะ” และ “Mad Max 2” เสร็จสิ้นลงได้ ก็เพราะจากทุกอย่างที่ผมเรียนรู้ใน “Mad Max” ไม่ใช่แค่เพียงการถ่ายทำหนัง แต่เพราะความยากลำบากที่ผมเผชิญระหว่างการถ่ายทำ และทำไมมันถึงประสบความสำเร็จ? “

“นั่นก็เพราะ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เราได้สร้างแบบอย่างขึ้นมา เป็นกลายเป็นนิทานปรัมปราแบบที่อเมริกันตะวันตกทำมานานหลายปี ชาวญี่ปุ่นมองตัวละครนี้เป็นซามูไร ชาวสแกนดิเนเวียเห็นว่าเขาคือไวกิ้งพเนจร ชาวฝรั่งเศสบอกนี่คือ “คาวบอยติดล้อ” นั่นทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า มันไม่ใช่แค่ว่า คุณจะเล่าเรื่องราวอย่างไร? แต่คุณเล่าเรื่องราวนี้ทำไม? เมื่อใดที่คุณมี โลกทั้งใบอยู่ในหัว และแม้ว่าคุณจะพยายามไม่หวนกลับไป มันก็ดึงดันเรียกร้องหาคุณอยู่ดี” มิลเลอร์ กล่าว

มันไม่ใช่แค่ว่า คุณจะเล่าเรื่องราวอย่างไร?
แต่คุณเล่าเรื่องราวนี้ทำไม?


ข้อสังเกตนึงที่ทำให้ “Mad Max” แตกต่างจากหนังแอ็คชั่นเรื่องอื่น ๆ นั่นก็คือ วิสัยทัศน์ที่ จอร์จ มิลเลอร์ ยึดโยงกับโลกแห่งความคลั่งใบนี้มาตลอด ว่าเขาเล็งเห็น ว่าภาพยนตร์คืออีกหนึ่งภาษาสากล ที่ผู้คนทั่วทุกมุมโลกเข้าใจ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาแม่ของตนเลยด้วยซ้ำ และเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุ ที่บุคลากรผู้กำกับ ฯ ในช่วงยุคหนังเงียบส่วนหนึ่ง หันมาทำหนังแอ็คชั่นที่ขับเน้นผ่านอากัปกริยา

ปณิธานนึงของมิลเลอร์ คือการออกแบบเรื่องราวของหนัง ขับเคลื่อนมันด้วยมวลพลังงานที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกตลอดเวลา เขาหยิบยกประโยคดังของฮิทช์ค็อกที่บอกว่า “คนดูไม่จำเป็นต้องอ่านซับในประเทศญี่ปุ่น” และนั่นก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่หนังแทบจะส่วนใหญ่ รวมถึง “Furiosa: A Mad Max Saga” มาพร้อมบทพูดที่ไม่มากนัก ดั่งเช่น ฟูริโอซ่า ที่เป็นตัวเอกของเรื่อง กลับมีบทพูดราว ๆ 30 ประโยคจากความยาวหนังเกือบสองชั่วโมงครึ่ง

ผมคิดมาเสมอว่า ภาพยนตร์นั้นมีพลังขับเคลื่อน ผมเคยพูดมาหลายครั้ง ถึงคำพูด เควิน บราวน์โลว์ ผู้เขียน “The Parade’s Gone By” ที่เขาบอกว่า ภาษาทางภาพยนตร์คือภาษาใหม่ ซึ่ง เทอร์รี่ เพิ่งบอกผมว่า ภาษานี้เพิ่งมีอายุได้ 130 ปีเท่านั้นเอง ซึ่งมันใหม่มาก ๆ และเราก็สามารถเรียนรู้ ก่อนที่เราจะสามารถอ่านภาษาแม่ของเราเองได้เสียอีก

และนั่นแหล่ะ มันคือสิ่งที่นิยามภาพยนตร์ ก่อนจะถึงยุคหนังเสียง เหล่าผู้กำกับหนังเงียบสำคัญ ๆ แทบทั้งหมด ตัดสินใจทำและเรียกสิ่งนี้ว่าหนังแอ็คชั่น ผู้คนแบบ บัสเตอร์ คีตัน หรือ ฮาโรลด์ ลอยด์ เป็นต้น

ดังนั้น นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึก ว่ามันเป็นภาพยนตร์โดยบริสุทธิ์ เป็นงานด้านภาพที่ประกอบดนตรี ผมมักจะคิดว่า ภาพยนตร์เป็นสองทาง เป็น หนังเงียบที่มีเสียง หรืออย่างที่ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก เคยกล่าวไว้ว่า “ผมชอบสร้างหนังที่คนดูไม่จำเป็นต้องอ่านซับในประเทศญี่ปุ่น” ซึ่งนั่น ผมว่ามันเป็นแก่นของภาพยนตร์เลย

คือคุณสามารถทำได้ทุกอย่างในสื่อภาพยนตร์ และมันต่างจากสื่อแขนงอื่น ๆ โดยสิ้นเชิงตรงที่ คุณสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ ได้แค่ผ่านจอในโรงภาพยนตร์เท่านั้น คุณทำแบบนี้ในโรงละครไม่ได้ คุณทำในชีวิตจริงไม่ได้ คุณเอามาเขียนบรรยายแทนก็ไม่ได้ หรือเอามาวาดเป็นภาพประกอบก็ไม่ได้เหมือนกัน” มิลเลอร์ กล่าว

“คุณสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้
ได้แค่ผ่านจอในโรงภาพยนตร์เท่านั้น”


หลังการเสียชีวิตของไบรอน เคนเนดี้ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการเตรียมงาน “Mad Max Beyond Thunderdome” ด้านผู้กำกับฯ จอร์จ มิลเลอร์ ก็ระหกระเหินไปพัฒนาโครงการหนังเรื่องอื่น ๆ แทน ทั้งการปลุกปั้น “Babe”, “Lorenzo’s Oil” รวมถึงแอนิเมชัน “Happy Feet” ทั้งสองภาค ไอเดียของการนำเรื่องราวการไล่ล่าในโลกอันแสนคลั่งก็ยังติดอยู่ในใจเขาเสมอ

Mad Max: Fury Road” ออกสตาร์ทเครื่องหลายครั้ง แต่ติดปัญหาหลายอย่างจนทำให้กำหนดเปิดกล้องล่าช้า ทั้งเหตุ 11 กันยา, สงครามอิรัก หรือกระทั่งปัญหาเกี่ยวกับตัวนักแสดงนำอย่าง เมล กิ๊บสัน จนต้องคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่อย่าง ทอม ฮาร์ดี้ มาสวมบทแทน โครงการถูกพิจารณาหลายครั้งว่าจะสร้างเป็นแอนิเมชัน ก่อนตัดสินใจแน่แล้วว่าจะเป็นหนังคนแสดง

กระบวนการทำงานเตรียมงานแทบทั้งหมดแตกต่างจากหนังปกติมาก ๆ ตรงที่ มิลเลอร์ ทำงานร่วมกับนักออกแบบสตอรี่บอร์ด 5 คน และจัดการรังสรรค์เรื่องราวทั้งหมดก่อนเขียนบท ผ่านการวาดภาพมากกว่า 3,500 ช่อง ซึ่งก็เป็นจำนวนเทียบเท่ากับจำนวนช็อตที่มีในหนังฉบับสมบูรณ์ ซึ่งก็ตรงตามความต้องการของเขา ที่อยากให้หนังบอกเล่าผ่านงานภาพด้วยภาษาภาพยนตร์เป็นหลัก

แต่ด้วยเรื่องราวที่ออกแบบให้เป็น “การไล่ล่าขนาดยาว” ที่ต่อเนื่องไปจนจบเรื่อง มิลเลอร์ จึงต้องการรายละเอียดโลกอันแสนคลั่งนั้นให้ละเอียดมากกว่านี้เคย เขาจึงต้องออกแบบเรื่องราว รวมถึงโลกใบนั้น ให้เข้าใจจนถ่องแท้ ทั้งเนื้อหาหลักของ “Mad Max: Fury Road” ทั้งภูมิหลังของแม็กซ์ก่อนจะเข้ามายังถนนโลกันตร์ รวมถึงจุดกำเนิดของฟูริโอซ่าเอง ก็ถูกขีดเขียนไว้อย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ ฟูริโอซ่า ก็ไม่ใช่ตัวละครที่จะเข้ามาเป็นตัวเอกใหม่แต่อย่างใด แต่ มิลเลอร์ เล็งเห็นว่า มันเป็นตัวละครที่สอดรับกับเนื้อหาที่เขาออกแบบไว้ ว่ามันเหมาะสมกว่าการให้ตัวละครชายนำพากลุ่มตัวละครหญิง ซึ่งเป็นแกนหลักของพล็อตเรื่อง

“”Fury Road” เกิดขึ้นในระยะเวลา 3 วัน และด้วยการที่จะต้องเล่าเรื่องราวในระยะเวลาที่ย่นย่อระดับนั้น เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับทุกอย่างในโลกใบนี้”

มันมีกลุ่มผู้ชายที่พูดว่า “เดี๋ยวสิ คุณจะให้มีฮีโร่แอ็คชั่นเพศหญิงไม่ได้นะ” แล้วจะก็มีกลุ่มเฟมินิสต์ที่พูดว่า “แล้วทำไมเธอต้องพึ่งแม็กซ์ตั้งแต่แรก?” แต่เมื่อคุณจะเล่าเรื่องสักเรื่อง คุณไม่สามารถบอกได้ว่า เรื่องราวที่กำลังเดินไปนี้ มันเกี่ยวข้องผ่านแก่นเนื้อหาอะไร

และสำหรับ “Mad Max: Fury Road” ผมมาคิดว่า ถ้าเกิด แม็คกัฟฟิน สิ่งที่ทุกคนออกตามล่ากัน มันคือมนุษย์ล่ะ? และนั่นก็กำเนิดเหล่าภรรยาทั้งห้าที่ถูกช่วงชิงไปจากเจ้าแห่งสงคราม แต่มันก็ไม่ควรจะเป็นผู้ชายที่ลักพาเหล่าภรรยาไป เพราะนั่นจะเป็นหนังคนละม้วนเลย ดังนั้น คนที่พาพวกเธอออกไปจะต้องเป็นผู้หญิง” มิลเลอร์ กล่าว

ทั้งนี้ “Furiosa: A Mad Max Saga” เอง ก็เกือบจะตกอยู่ในชะตากรรมแบบเดียวกับ “Mad Max: Fury Road” ที่จะถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชัน แต่ด้วยปัญหาด้านการถ่ายทำในช่วงเปิดกล้อง “Fury Road” จนถึงขั้นต้องยกกอง

จากเดิมที่จะถ่ายในออสเตรเลีย แต่เพราะฝนตกหนักเป็นประวัติกาล ทำให้พวกเขาต้องยกกองไปถ่ายในทะเลทรายนามิเบียอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ตารางถ่ายทำล่าช้า มิลเลอร์ เลยเปลี่ยนแผนและหยิบเอา “Furiosa” มาสร้างเป็นหนังเรื่องแรก หลังจาก “Fury Road” และด้วยเทคโนโลยีที่ค่อนข้างรุดหน้า อุปกรณ์ที่มีความคล่องแคล่วว่องไวมากขึ้น การถ่ายทำฉากแอ็คชั่นแสนบ้าคลั่งที่ทำได้สะดวกสบายและง่ายดายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ผมไม่มีความคิดจะเอามาสร้างหนังเลยด้วยซ้ำ แต่ ณ ตอน “Mad Max: Fury Road” ล่าช้าอีกครั้งเพราะฝนตกหนัก มันก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องเอาไปสร้างแอนิเมชันก่อนจะถ่าย “Fury Road” อีกแล้ว และ ณ ตอนที่เราได้ทำ “Fury Road” เสร็จ เราก็ตัดสินใจจะทำ “Furiosa” เป็นภาพยนตร์คนแสดง

“ผมเห็นถึงโอกาสที่สามารถจะรังสรรค์ภาพยนตร์ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อน ในหนทางที่ปลอดภัยกว่าที่คุณเคยทำในอดีต กล้องดิจิตอลเหล่านี้ มีขนาดเล็กลงและคล่องตัวขึ้น จนถึงขั้นที่คุณเอาไปถ่ายกลางทะเลทรายได้” มิลเลอร์ กล่าว

หลังตกลงเจรจาปัญหากับด้าน Warner Bros. เสร็จสิ้น ผู้กำกับ ฯ อย่าง จอร์จ มิลเลอร์ จึงดำเนินงานสร้าง “Furiosa: A Mad Max Saga” พร้อมคัดนักแสดงสาวอย่าง อันย่า เทย์เลอร์-จอย มารับบทเป็น ฟูริโอซ่า แทน ชาร์ลิซ เธอรอน ที่เคยรับบทใน “Mad Max: Fury Road” ด้วยเหตุผลที่ว่า เทคโนโลยี De-Aged ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับเขานัก อ้างอิงจากผลงานอย่าง “The Irishman” ของมาร์ติน สกอร์เซซี และ “Gemini Man” ของอั้งลี่

เทย์เลอร์-จอย ซึ่งเป็นตัวเลือกของมิลเลอร์ นับตั้งแต่เขาได้ดูหนังร่างแรก ๆ ของ “Last Night in Soho” ของเอ็ดการ์ ไรท์ ในช่วงปี 2020 ก่อนที่ มิลเลอร์ จะหยิบยื่นการบ้านให้ เทย์เลอร์-จอย ทำในการคัดเลือกนักแสดง นั้นคือการอัดเทปบันทึกการแสดง โดยเลือกจากบทพูดโมโนล็อก 3 อัน ซึ่ง เธอก็จัดการเลือกบทพูดอันอัดอั้นข้นแค้นของปีเตอร์ ฟินช์ จาก “Network” ในปี 1976 และทำให้เธอกลายเป็น ฟูริโอซ่า ไปโดยปริยาย

และการถ่ายทำในครั้งนี้ ก็ยกระดับจาก “Mad Max: Fury Road” มากขึ้น ทั้งอุดมไปด้วยสตันท์แมนมากกว่า 200 คน แถมยังได้หวนกลับไปถ่ายทำ ณ หุบเขาโบรเค่นฮิลล์ ที่ ๆ เคยถ่ายทำ “Mad Max 2” และการถ่ายทำก็กินระยะเวลามากถึง 6 เดือนครึ่ง ซึ่งตลอดระยะเวลานั้น ก็มีฉากแอ็คชั่นบ้าคลั่งมากมาย แต่อย่างหนึ่งที่ขึ้นใจและเป็นมาตรการที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ก็คือ ความปลอดภัยครับ

อีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็น ก็คือในทุก ๆ วันที่เราตื่นขึ้นมา รวมถึงตัวจอร์จ พร้อมความจริงที่ว่า เราอาจจะทำให้ใครสักคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น ฝ่ายการออกแบบงานสตันท์ไม่ได้ไปอยู่ที่นั้น เพียงเพราะทักษะที่พวกเขามีในการทำสิ่งเสี่ยงตาย แต่คือการแยกกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น และสร้างมาตรการภายใต้นั้นมากมายมหาศาล และนั่นก็รวมถึงสตันท์ชายและหญิงกว่า 264 คนในฝ่ายนั้น

มันมีฉากหนึ่งที่ใช้ถ่ายทำเวลาถึง 79 วัน และทุกวันก็ต้องเผชิญกับอากาศที่อาจเลวร้าย มาตรการโควิด และความเหนื่อยล้า และมันก็สำคัญที่สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง นำโดยจอร์จ นั่นก็คือ อย่าทำให้ใครต้องบาดเจ็บ นั่นเป็นความรับผิดชอบแรก และอันดับสองคือทำหนังออกมาให้สนุก” โปรดิวเซอร์ ดั๊ก มิทเชลล์ กล่าวเสริม

“เรามีฝ่ายการออกแบบงานสตันท์ที่น่าทึ่ง เรามี กาย นอร์ริส เป็นหัวหน้าฝ่ายสตันท์ ซึ่งเคยแสดงเสี่ยงตายในหนังภาคแรก และเป็นผู้กำกับฯ กองสอง ที่คอยถ่ายช็อตเพิ่มเติม ณ ตอนที่ชั้นได้คุยกับจอร์จ ชั้นพูดเลยว่า ชั้นพร้อมที่จะทุ่มตัวเองลงไปเท่าที่จะทำได้ และถึงแม้กระนั้น ก็ต้องมีใครสักคนมาดูแลฉากเสี่ยงตายเหล่านั้น ทดสอบฉากนั้น ๆ มาสอนตัวต่อตัวว่าทำยังไง”

“แบบ ตัวแสดงแทนของชั้น ฮาร์ลีย์ ไบร์ท ซึ่งเป็นทั้งพี่สาวของชั้น เธออยู่กับชั้นตลอดเวลา เราเพิ่งเจอในกองถ่ายนี้ และเราก็กลายเป็นหนึ่งในเพื่อนซี้ ทุกสิ่งที่เธอทำ ชั้นเองก็ได้ทำด้วย และสิ่งที่สำคัญก็คือ แทนที่จะได้อยู่ในสภาวะที่กดดันที่ทุกคนในกองคอยสั่ง “คุณต้องทำนะ” มันกลับเป็น “ชั้นรักเธอนะ ชั้นเชื่อมั่นในตัวเธอ และเธอต้องทำได้แน่ ๆ และชั้นจะช่วยให้เธอทำมันในทางที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และพระเจ้า ชั้นรักนักแสดงแทนมาก พวกเขาวิเศษและน่าทึ่งมาก เป็นคนที่ยอดเยี่ยมสุดในกองเลย”

“มันไม่สมเหตุสมผลเลย ที่สตันท์กองถ่ายนี้ปลอดภัยขนาดนี้ ไม่สมเหตุสมผลเลย” เทย์เลอร์-จอย กล่าวเสริมอย่างติดตลก

“มันไม่สมเหตุสมผลเลย
ที่สตันท์กองถ่ายนี้ปลอดภัยขนาดนี้”


ทั้งนี้ แม้จะยังไม่รู้ว่า หลังเสร็จสิ้นจาก “Furiosa” แล้ว มิลเลอร์ จะได้กลับมาควบตะบึงหวนคืนสู่โลกแดนรกร้างอีกหรือไม่ จากแผนการที่เขาเองก็เขียนบท “The Wasteland” รอไว้ตั้งแต่ “Fury Road” มันก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของหนังภาคนี้ รวมถึงโอกาสที่ฮาร์ดี้จะได้กลับมารับบทเป็นแมกซ์เอง ก็ขึ้นอยู่กับโอกาสอันประจวบเหมาะที่อาจจะต้องรอติดตามกันต่อไป

ส่วนด้าน มิลเลอร์ ซึ่งหลังจากถ่ายทำอันเหน็ดเหนื่อยยากลำบากเสร็จ เขาก็จะกลับไปทำตัวพักผ่อนแบบปกติ ที่ไม่ได้หวือหวาอะไรนัก เหมือนเป็นการเปิดประตูลงจากรถไปสูดอากาศ หากแต่ทว่า ในยามที่จิตที่ไร้การบังคับ บางครั้งเรื่องราวของโลกอันบ้าคลั่งใบนั้น อาจจะหวนกลับมายังวิสัยทัศน์ของเขาเอง

มิลเลอร์ ในวัยลายคราม 79 ปี ก็ยังหาหนทางในการจุดเครื่องติด และดำเนินโลกแดนรกร้างของแมดแมกซ์ต่อไป

สำหรับผม ตำแหน่งตั้งต้นของผมคงเป็นการผ่อนคลายล่ะมั้ง ก็เช่น การอาบน้ำ ออกไปเดินเตร็ดเตร่ ไม่ใช่เดินปกตินะ แต่เดินเตร็ดเตร่ไปยังร้านค้าแถวบ้าน คุณปล่อยวางจิตที่มีเหตุผล และเข้าสู่สภาวะทางอารมณ์ที่ไม่ผูกมัด คุณปล่อยให้สติปัญญายอมจำนนต่อสัญชาตญาณ

สองในสามของเรื่องเกิดขึ้น ณ ตอนที่ผมกำลังหลับอยู่ตรงไหนสักที่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิค ในทุกห้วงยามของความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ในทุกความมุมานะที่ผู้คนต่างแก้ไขปัญหา หรือกระทั่งตอนที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อยู่พรินซ์ตัน และออกมาไปพายเรือลำเล็ก เพราะคณิตศาสตร์กลายเป็นเรื่องยากสำหรับ ผมเองก็ได้เรียนรู้สิ่งเดียวกัน

ว่าจงทำในสิ่งที่อนุญาตให้คุณได้หลบเร้นเข้าไปจินตนาการของตนเอง และนั่นมันก็เป็นเรื่องจริง” มิลเลอร์ กล่าวทิ้งท้าย

“จงทำในสิ่งที่อนุญาตให้คุณ
ได้หลบเร้นเข้าไปในจินตนาการของตนเอง”


Furiosa: A Mad Max Saga” เข้าฉายแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์


แหล่งที่มา : Time / The Telegraph / AP / Los Angeles Times / Youtube
เขียนและเรียบเรียงใหม่โดย : Movie Trivia

สามารถติดตาม Movie Trivia เพิ่มเติมได้ที่
แฟนเพจ Facebook, Blockdit และ Threads

ใส่ความเห็น